ป้องกันลูกรักจากโรค มือ เท้า ปาก

9117 จำนวนผู้เข้าชม  | 



         สวัสดีค่ะทุกคน ไม่ได้มาอัพเดทข้อมูลสาระดีดีซะนาน ช่วงนี้พอได้ยินเรื่อง " โรค มือ เท้า ปาก " หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Hand Foot Mouth Disease (HFMD) ระบาด เลยต้องหาข้อมูลดีดีมาแชร์กันหน่อยค่ะ



* * *  สรุปสาระสำคัญ  * * *
 

  • โรคนี้มักพบในเด็กเล็ก แต่ เด็กโต หรือ ผู้ใหญ่ ก็อาจจะเป็นโรคนี้ได้
       โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือต้องดูแลผู้ป่วย
 
  • เชื้อไวรัสที่น่ากลัวที่สุด คือ เอนเทอโรไวรัส 71 ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้
 
  • อาการของโรค ไม่จำเป็น ที่จะต้องพบตุ่มน้ำ
       หากมีอาการผิดปกติที่เป็น อาการทางระบบประสาท เช่น ซึม ปวดศีรษะมาก มีไข้สูง

       อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อาเจียนรุนแรง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ฯลฯ ควรไปพบแพทย์ทันที

 
  • โรคนี้ ไม่มี วัคซีนป้องกัน เป็นการรักษาตามอาการ
 
  • การป้องกันอย่างง่าย ๆ คือ การล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด
       รวมถึงการทำความสะอาดบ้าน / อุปกรณ์ / สิ่งของ เช่น ของเล่น

 


        อย่างไรก็ดี วิธีป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือ การที่เรามีสุขภาพดีทั้งกายและใจ โดย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่  นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  รักษาสุขอนามัยความสะอาด  ทำสมาธิ ทำจิตใจให้เบิกบาน ผ่องใส ไม่เครียด  จะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันต่อสู้โรคได้ทุกโรคค่ะ…ลองดูนะคะ…


คลิก ดาวน์โหลด

แผ่นพับ - ความรู้เกี่ยวกับ โรค มือ เท้า ปาก ของสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

แผ่นภาพ - ความรู้เกี่ยวกับโรคมือเท้าปาก และการป้องกันและควบคุมโรค สำหรับโรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็ก

องค์ความรู้ (Factsheet) เรื่อง โรคติดต่ออุบัติใหม่ โรคติดเชื้อไวรัสเอนเทอโร (ENTEROVIRUS DISEASES) : โรคมือเท้าปาก (HAND, FOOT AND MOUTH DISEASE : HFMD)

คำถาม-คำตอบ "โรคมือ เท้า ปาก" ของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

คำแนะนำในการป้องกันควบคุมโรค มือ เท้า ปาก : สำหรับประชาชนทั่วไป, โรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็ก, ครูและพี่เลี้ยงเด็ก และการทำความสะอาดพื้นเพื่อฆ่าเชื้อโรค




 

โรค มือ เท้า ปาก - Hand Foot Mouth Disease (HFMD)


สาเหตุ

        โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งเชื่อไวรัสชนิดนี้มีหลายตัว ที่พบบ่อยที่สุด คือ คอกแซกกี เอ 16 (Coxackievirus A type 16 (a16)) แต่ที่น่ากลัวที่สุด คือ เอนเทอโรไวรัส 71 โรค นี้มักจะพบในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ แต่ก็อาจจะพบในผู้ใหญ่ได้ สามารถพบได้ตลอดปี โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น ช่วงหน้าฝนที่มีอากาศเย็นและชื้น
 

อาการ
 


 

         อาการ มักจะเริ่มด้วยไข้ เบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัวเจ็บคอ หลังจากไข้ 1-2 วันจะเห็นแผลแดงเล็ก ๆ เป็นตุ่มน้ำในระยะแรกและแตกเป็นแผล เริ่มต้นที่ปาก เหงือก เพดาน ลิ้น และลามมาที่ มือ เท้า รวมถึงบริเวณอื่น เช่น แขน หรือก้น

        พ่อแม่สามารถสังเกตอาการของลูกได้โดย

  • อ่อนเพลีย หมดแรง
  • ซึม
  • เป็นไข้สูง ไม่ลดแม้ทานยาลดไข้
  • ปวดศีรษะมาก
  • ปวดเมื่อยรุนแรง
  • เจ็บคอ
  • เบื่ออาหาร
  • อาเจียน
  • หงุดหงิด
  • มีตุ่มน้ำที่ คอ ปาก เหงือก ลิ้น
  • เป็นผื่นที่ มือ เท้า ก้น
  • ปัสสาวะน้อย 
  • ผิวหนังแห้ง


ระยะฝักตัว

        หมายถึง ระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ ใช้เวลาประมาณ 4-6 วัน และจะหายเองได้ใน 5-7 วัน (ไม่เกินสองสัปดาห์)


การติดต่อ

        ระยะที่แพร่เชื้อ คือ ประมาณสัปดาห์แรก โดยติดต่อจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ที่ป่วย น้ำจากผื่นที่มือหรือเท้า และอุจจาระ

        เชื้อนั้นอาจจะอยู่ในร่างกายได้เป็นสัปดาห์ จึงสามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ แม้ว่าจะหายจากโรคหรืออาการดีขึ้นแล้ว


การรักษา

       โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มีการรักษาเฉพาะ ส่วนมากรักษาตามอาการ

  • ถ้ามีไข้ ให้ยา paracetamol ลดไข้ ตามขนาดของน้ำหนักตัวของเด็ก ห้ามให้ aspirin เช็ดตัวลดไข้ (การให้ยาควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร)
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ ใช้เกลือ 1/2 ช้อน ต่อ น้ำ 1 แก้ว ต้องมั่นใจว่าเด็กบ้วนคอได้
  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ อาจจะเป็นอาหารเหลว เช่น  น้ำผลไม้  น้ำแกงจืด  น้ำเต้าหู้  นม ทีละน้อย ๆ ให้บ่อย ๆ
  • ดื่มน้ำสะอาดและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ผู้ดูแลเด็กควรระมัดระวังเรื่อง การติดต่อของโรค และ โรคแทรกซ้อน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้


การป้องกัน

  • รักษาสุขอนามัยให้ดี ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด โดยเฉพาะหลังขับถ่าย หรือเมื่อสัมผัสกับเด็กที่ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย สวมถุงมือเมื่อจะทำแผลผู้ป่วย
  • อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องแอร์ หรือที่ที่มีคนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ สระว่ายน้ำ ฯลฯ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ ฯลฯ
  • ทำความสะอาด สิ่งของที่มีการจับบ่อยด้วยน้ำสบู่หรือผงซักฟอก เช่น เฟอร์นิเจอร์ ลูกบิด โทรศัพท์ มือถือ คอมพิวเตอร์ ของเล่น อุปกรณ์การเรียนการสอน โต๊ะ เก้าอี้ แก้วน้ำ ฯลฯ
  • ในสถาน ศึกษา หากพบเด็กที่มีอาการผิดปกติ เช่น ซึม มีไข้สูง ปวดเมื่อย เพลีย ไม่มีแรง ควรให้เด็กหยุดเรียน และหากมีเด็กป่วยจำนวนมาก ควรปิดสถานศึกษาชั่วคราว เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค และทำความสะอาดสถานที่ด้วยวิธีที่ถูกต้องก่อนเปิดเรียนใหม่ เพื่อกำจัดเชื้อโรค

จะทำลายเชื้อได้อย่างไร
  • แสงอุลตราไวโอเล็ตในแสงแดด
  • ความร้อนที่ 60 องศาเซลเซียส นาน 60 นาที หรือ 100 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที
  • น้ำยาซักล้างทั่วไป
 

ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจาก :

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้